แสดงรายละเอียดข่าว



ประกาศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประกาศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประกาศคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ด้วยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) มีความประสงค์จะ สร้างโรงรมลำไยต้นแบบที่มีเทคโนโลยีและประสิทธิภาพในการควบคุมไม่ให้มีสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ตกค้างเกินค่ามาตรฐานการส่งออก รวมทั้งควบคุมการปล่อยสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ที่เหลือจากกระบวนการรมลำไยที่ปล่อยสู่บรรยากาศไม่เกินกว่า 400 ppm (มาตรฐานอากาศเสียที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรม 500 ppm) ณ บริเวณ เทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน ในปีงบประมาณ 2557 วงเงินก่อสร้าง 63 ล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์
1.  เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกลำไยสดไปต่างประเทศที่ถูกปฏิเสธและตีกลับโดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีนที่เป็นลูกค้าอันดับต้นของไทย เนื่องจาก การรมลำไย ด้วยสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์และมีการตกค้างเกินกว่า 50 mg/kg ซึ่งส่งผลกระทบต่อการค้าและเกษตรกรผู้ปลูกลำไยโดยรวม
2.  เพื่อสร้างโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ค้าลำไยและเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่โดยสามารถส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพลำไยจากชุมชนตำบลวังผางให้แก่ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
3.  เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับโรงรมลำไยในพื้นที่ตำบลวังผางได้ดำเนินการปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ส่งผลให้มีการปล่อยสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์สู่บรรยากาศลดลงและเป็นผลดีต่อชุมชนโดยรวม

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนใกล้เคียง
1.  อาจมีผลกระทบต่อการจราจรภายในหมู่บ้านเหล่าแมว หมู่ที่ 1ตำบลวังผาง
2.  อาจมีผลกระทบจากการปล่อยสารซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์สู่บรรยากาศเพิ่มขึ้น แต่จากการตรวจปริมาณซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์บริเวณตำบลวังผาง ณ เดือน พฤษภาคม 2557 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.0019 ppm ต่ำกว่าค่ามาตรฐานในบรรยากาศ 0.12 ppm ค่อนข้างมาก ดังนั้นการก่อสร้างโรงรมของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
3.  อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการโรงรมลำไยที่ไม่ได้มาตรฐานไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.) ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงได้มอบหมายให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะคนกลาง จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อโครงการนี้ เปิดเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องทั้งข้อดีและข้อเสียของโครงการอย่างเพียงพอ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเห็นต่อโครงการอย่างรอบด้านและทั่วถึง โดยใช้กรอบการดำเนินการตาม “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548” เพื่อให้การตัดสินใจการดำเนินงานของโครงการ สอดคล้องกับความต้องการและผลประโยชน์ของชุมชน

การดำเนินการในครั้งนี้หลักการสำคัญที่คณะนิติศาสตร์ได้ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินงานคือหลักของความโปร่งใส การสื่อสารที่ทั่วถึง และการทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลทุกด้านเพื่อให้ชุมชนเข้าใจทั้งข้อดีและข้อด้อยของการดำเนินงานผ่านการให้ข้อมูลหลายช่องทางเช่น การเข้าไปให้ข้อมูล ณ บ้านเรือน การประชุมกลุ่มย่อยผู้เกี่ยวข้องต่างๆ การให้ข้อมูลผ่านเสียงตามสายทุกหมู่บ้าน และการติดป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนมาประชุมเพื่อแสดงความเห็นต่อโครงการหลังจากที่มีการให้ข้อมูลอย่างทั่วถึงในพื้นที่แล้ว

กำหนดการการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน
วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2557 เวลา 9.00 – 12.00 น. โดยประมาณ (ลงทะเบียนเวลา 8.30-9.30 น.)

สถานที่ดำเนินการทำประชาพิจารณ์
ณ หอประชุม เทศบาลตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

ผู้มีสิทธิเข้าร่วมการทำประชาพิจารณ์
ต้องเป็นประชาชนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเทศบาลตำบลวังผาง และมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป โดยแสดงบัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
ดังนั้นจึงขอประกาศเชิญชวนประชาชนในเขตเทศบาลตำบลวังผาง เข้าร่วมเวทีประชาพิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่อ โครงการยืดอายุลำไยส่งออกเพื่อแก้ไขลำไยล้นตลาดด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังกล่าวข้างต้นในวัน เวลาและ สถานที่ข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน

หากท่านมีคำถามเกี่ยวกับการดำเนินงาน
ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่

ศูนย์รับฟังข้อมูลและความคิดเห็นของประชาชน
ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง (หนองปลิง) เทศบาลตำบลวังผาง
เบอร์โทรศัพท์: 098-752-3686

Website
สำนักนายกรัฐมนตรี http://www.publicconsultation.opm.go.th
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ http://www.law.cmu.ac.th

หรือดูรายละเอียด กำหนดฉบับเต็มได้ที่ ไฟล์ประกอบข่าว

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 053-942909-10 ต่อ 0, 053-942927-29 โทรสาร : 053-942914
E-Mail :  lawcmu@cmu.ac.th

ระบบแจ้งข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะ