แสดงรายละเอียดข่าว



ยื่นรายงานนำเสนอสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ

ยื่นรายงานนำเสนอสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ - คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ยื่นรายงานนำเสนอสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำฯ


ศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และเครือข่ายคณะทำงานสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาวะของประชากรกลุ่มเฉพาะ เข้าพบประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับ กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และประชากรข้ามชาติเพื่อให้กลไกรัฐสภาเร่งรัดติดตามให้รัฐบาลและส่วนราชการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนฯที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

ศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.โดย อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุลพร้อมด้วย พร้อมด้วยคณะทำงานภาคีร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาวะชนเผ่าพื้นเมือง ประชากรข้ามชาติ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท และมูลนิธิชุมชนไท ได้เข้าพบประธานวุฒิสภาศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย และประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ในฐานะประธานกรรมาธิการปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เพื่อนำเสนอข้อมูลและผลการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่อ กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และประชากรข้ามชาติ จากการที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ตามกฎหมาย ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และตามที่ได้กำหนดและระบุไว้แล้วในยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 รวมตลอดถึงร่างแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ

โดยจำนวนประชาชนในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 9,134,298. คนทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่ยังตกค้างไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานสาธารณสุข กว่า 102,787 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษาที่มีรหัส G นำหน้าเลข 13 หลัก จำนวน 67,577 คน และคนดั้งเดิมที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร อาทิ คนจีนโพ้นทะเลฯ จำนวน 35,210 คน และกลุ่มประชากรข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศไทยและไม่สามารถเข้าถึงระบบการเฝ้าระวังดูแลด้านสุขภาวะอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 2,000,000 คน ที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาวะ

ศูนย์ศึกษาความเป็นธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะทำงานภาคีร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาวะชนเผ่าพื้นเมือง ประชากรข้ามชาติ จึงได้ยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เพื่อขอให้วุฒิสภาใช้กลไกในการกำกับ ควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดติดตามให้เป็นไปตามนโยบายและแผนในระดับชาติชุดต่าง ๆ ที่รัฐบาลและส่วนราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อเป็นการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง และประชากรข้ามชาติอันจะนำไปสู่การช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ความเดือดร้อน และความไม่เป็นธรรมอันเกิดจากการใช้อำนาจของรัฐ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 053-942909-10 ต่อ 0, 053-942927-29 โทรสาร : 053-942914
E-Mail :  lawcmu@cmu.ac.th

ระบบแจ้งข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะ