แสดงรายละเอียดข่าว



การประชุมสัมมนาให้ความรู้การคุ้มครองผู้บริโภคไปสู่สถาบันการศึกษา เพื่อการจัดตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภค

การประชุมสัมมนาให้ความรู้การคุ้มครองผู้บริโภคไปสู่สถาบันการศึกษา เพื่อการจัดตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภค - คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การประชุมสัมมนาให้ความรู้การคุ้มครองผู้บริโภคไปสู่สถาบันการศึกษา เพื่อการจัดตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภค

จากการเข้าร่วมการประชุมสัมมนาให้ความรู้การคุ้มครองผู้บริโภคครั้งนี้ สามารถสรุปข้อมูลได้ ดังนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 มีอำนาจหน้าที่อยู่ 7 ประการ ซึ่งได้ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคดังนี้
1. รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือได้รับอันตรายจากสินค้าหรือบริการใด สามารถร้องเรียนมาที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ทำเนียบรัฐบาล กทม.10300 โดยการเขียน จดหมาย ส่งตู้ ป.ณ. 99 กรุงเทพฯ 10300 หรือมาด้วยตนเอง หรือโทรศัพท์ สายด่วนร้องทุกข์โทร. 1166 การร้องเรียน หรือการช่วยกันสอดส่องและแจ้งมายังสำนักงานฯ นั้นเป็นสิทธิที่ ผู้บริโภคพึง กระทำได้ นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบธุรกิจได้สำนึกและบรรเทาการเอารัดเอาเปรียบต่อผู้บริโภคได้บ้าง และประการสำคัญก็คือ เป็นการช่วยให้สำนักงานฯ ทราบปัญหาของผู้บริโภคและดำเนินการช่วยเหลือได้เต็มที่ ซึ่งในการช่วยเหลือผู้บริโภคในด้านนี้ สำนักงานฯ มี สายงานที่รับผิดชอบอยู่โดยตรง คือ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก และกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา
2. ติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ซี่งกระทำการใดๆอันเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการใดๆที่เห็นสมควรและจำเป็นเพื่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
    3. สนับสนุนหรือทำการศึกษาและวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่น
    4. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาแก่ผู้บริโภคในทุกระดับการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยและอันตรายที่อาจได้รับจากสินค้าและบริการ
    5. ดำเนินการเผยแพร่วิชาการเพื่อสร้างนิสัยในการบริโภคที่เป็นการส่งเสริมพลานามัย ประหยัด และใช้ทรัพยากรของชาติให้เป็นประโยชน์มากที่สุด โดยสำนักงานฯ มีสายงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงคือ กองเผยแพร่และ ประชาสัมพันธ์ ดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ทางวิชาการในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีเอกสาร บทความ ข่าวสาร จากสำนักงานฯ แจกฟรีแก่ผู้สนใจอีกด้วยเป็นการส่งเสริม ให้ผู้บริโภคมีความรู้พื้นฐานในด้านต่างๆ อย่างกว้างๆ ในการดำเนินชีวิตประจำวันการเผยแพร่ความรู้ของสำนักงานฯ นั้นส่วนใหญ่จะเสนอสาระประโยชน์ด้วยถ้อยคำและภาษาที่เข้าใจง่ายแต่แฝง ความรู้ทางวิชาการไว้
6. ประสานงานกับส่วนงานราชการ หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการ ควบคุมส่งเสริม หรือกำหนดมาตรฐานของสินค้าหรือบริการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีสายงานรับผิดชอบในด้านนี้คือ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลากและกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา ซึ่งได้ทำงานประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ รับความปลอดภัย และเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือ
บริการ ดังนี้

- สินค้าที่เป็นอันตราย เช่น อาหารผสมสีย้อมผ้า อาหารไม่บริสุทธิ์
- สินค้าที่ไม่ปลอดภัย เช่น พืชผลไม้ซึ่งมียาป้องกันกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ จะประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามที่เห็นสมควร
- สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เช่น น้ำมันปลอมปน สินค้าเลียนแบบ
- สินค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ขายสินค้าเกินราคา สินค้าที่มีปริมาณไม่ตรงตามมาตราชั่ง ตวง วัด จะประสานงานกับกรม การค้าภายในกรมทะเบียนการค้าและเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวนสอบสวน คดีเศรษฐกิจออกดำเนินการตรวจสอบ จับกุมและดำเนินคดี
- บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค สินค้าหรือบริการที่โฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความเป็นจริง สินค้าที่แสดงฉลาก หลอกลวงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะกำหนดมาตรการในการดำเนินการเกี่ยวกับ สินค้าหรือบริการเหล่านี้ด้วยและสำนักงานฯ ก็มีหน้าที่ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ เหล่านั้นอยู่เสมอ
7.ปฏิบัติงานอื่นๆตามที่คณะกรรมการหรือคณะกรรมการเฉพาะเรื่องมอบหมาย
การแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค โดยอาจระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้ นอกจากนั้นยังมีการประสานงานเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนราชการหรือ หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ ให้ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด หรือกล่าวง่ายๆ คือ เป็นตัวแทนของผู้บริโภค คอยประสานงานเร่งรัดให้หน่วยงานซึ่งรับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ดำเนินการ เพื่อคุ้มครองประโยชน์สุขของผู้บริโภค ประการสุดท้ายที่สำคัญคือสำนักงานฯ ยังมีกองนิติการซึ่งรับผิดชอบใน ด้านกฎหมายสามารถจะดำเนินการคดีเพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของ ผู้บริโภคในศาลตามที่คณะกรรมการ มอบหมายและฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย
ทั้งนี้ตาม พระราชบัญยัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2 )พ.ศ.2541 ได้บัญญัติสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย 5 ประการดังนี้
1.  สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
2.  สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ
3.  มีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากากรใช้สินค้าหรือบริการ
4.  มีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา
5.  สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย



ส่วนประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการอภิปรายกลุ่มย่อยแบ่งออกด้วยกัน 5 ประเด็น อันได้แก่
1.  ด้านฉลากและสินค้าอันตราย
ฉลาก ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 หมายถึง คือ รูปรอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่ง
อื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งฉลากของสินค้าต้องระบุข้อความดังต่อไปนี้
-  ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจว่าสินค้านั้นคืออะไร กรณีที่เป็นสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาเพื่อขาย จะต้องระบุประเทศที่ผลิตด้วย
-  ชื่อผู้ประกอบการหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย
-  ชื่อผู้ประกอบการหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือผู้นำเข้ามาขายในราชอาณาจักรเพื่อขาย
-  สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขายหรือของผู้สั่งหรือผู้เข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
-  ต้องแสดงปริมาณ หรือขนาด หรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้า
-  ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นใช้เพื่อสิ่งใด
-  ข้อแนะนำในการใช้หรือห้ามใช้ เพื่อความถูกต้องในการใช้ที่ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภค
-  คำเตือน(ถ้ามี)
-  วัน เดือน ปี ที่ผลิต หรือวัน เดือน ปีที่หมดอายุ หรือวัน เดือน ปี ที่ควรใช้ก่อน(ถ้ามี)
-  ราคา ต้องระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุเป็นเงินสกุลอื่นด้วยก็ได้
ส่วนสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องระบุเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญ รวมทั้งข้อแนะนำ คำเตือนที่เป็นประโยชน์เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบรายละเอียด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการนำไปใช้งาน เช่น บอแรกซ์ ต้องระบุคำเตือนว่า “อันตราย อาจทำให้ไตวาย ห้ามใช้ในอาหาร” เป็นต้น
  ส่วนสินค้าอันตรายที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสั่งห้ามขาย
-  กรณีที่มีเหตุควรสงสัยว่าสินค้าใดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจในการสั่งให้ผู้ประกอบการธุรกิจดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้านั้นได้ ถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวหรือดำเนินการล่าช้า คณะกรรมการจะจัดให้มีการพิสูจน์โดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้
-  ถ้าการทดสอบหรือพิสูจน์พบว่าสินค้าใดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค และไม่สามารถที่จะป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากสินค้านั้นได้โดยการกำหนดฉลาก คณะกรรมการมีอำนาจสั่งห้ามขายสินค้านั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจทำลายสินค้านั้นได้
-  กรณีจำเป็นเร่งด่วน ถ้าคณะกรรมการมีเหตุที่เชื่อว่าสินค้าใดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค คณะกรรมการมีอำนาจสั่งห้ามขายสินค้านั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้านั้น
ตัวอย่างสินค้าอันตรายที่ห้ามขาย เช่น ตัวดูดน้ำ ลูกโป่งวิทยาศาสตร์ ลวดดัดฟันแฟชั่น เป็นต้น
2.  ด้านโฆษณา
มีคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา ทำหน้าที่ดังต่อไปนี้
2.1 ควบคุมดูแลการโฆษณาสินค้าหรือบริการที่ยังไม่ถูกการควบคุมการโฆษณาโดยกฎหมายอื่น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดลักษณะของข้อความที่จะใช้ในการโฆษณาไว้ดังนี้
การโฆษณานี้จะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สถาพ คุณภาพ หรือลักษระของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหาหรือการใช้สินค้าหรือบริการ เช่น ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการฯ ข้อความที่เป็นการสนันสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่การเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ ข้อความที่ทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน ฯลฯ
2.2 หน้าที่ในการป้องกันหรือยับยั้งความเสียหายหรืออันตรายอันจะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาสินค้าหรือบริการบางประการเป็นการล่วงหน้า โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการโฆษณาหรือบริการนั้น
2.3  หน้าที่ในการตรวจสอบข้อความโฆษณาที่ผู้ประกอบธุรกิจขอให้พิจารณาให้ความเห็นก่อนทำการโฆษณา
3.  ด้านสัญญา
มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญาได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ในมาตรา 35 ทวิ ถึง มาตรา 35 นว ซี่งคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ออกประกาศให้ธุรกิจหลายประเภทเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา แต่อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่ต้องให้ความสนใจและศึกษาก่อนเข้าทำสัญญากับผู้ประกอบธุรกิจ เนื่องมาจากเมื่อลงชื่อในสัญญาแล้วจะมีผลผูกพันทันทีความกฎหมาย ซึ่งได้มีข้อแนะนำให้ผู้บริโภคพิจารณาเกี่ยวกับสัญญา เพื่อป้องกันมิให้ถูกเอาเปรียบ ดังนี้
  3.1 ผู้ประกอบธุรกิจที่ขายสินค้าหรือให้บริการที่เป็นคู่สัญญา ต้องมีชื่อและที่อยู่ที่ชัดเจน
  3.2 ความสามารถของคู่สัญญา
  3.3 วัตถุประสงค์ของคู่สัญญา ซึ่งระบุว่าเป็นสัญญาอะไร คู่สัญญามีกี่ฝ่าย ผู้ใดบ้าง พร้อมที่อยู่และสถานที่ติดต่อ
3.4 แบบของสัญญา ต้องถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
3.5 การลงลายมือชื่อของคู่สัญญาและพยาน ควรลงชื่อต่อหน้ากันทุกฝ่าย
4. ด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
  พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 ได้บัญญัติให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นต่างๆดังนี้
4.1 ในการซื้อขายสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องส่งมอบการซื้อขายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องเป็นภาษาไทย ระบุชื่อผู้ซื้อ ผู้ขาย วันที่ซื้อขาย วันที่ส่งมอบ และสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญา
4.2 กฎหมายกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ โดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาไปยังผู้ประกอบธุรกิจภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับสินค้าหรือบริการ แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานี้ไม่สามารถนำไปใช้กับสินค้าหรือบริการได้ทุกชนิด ขึ้นอยู่กับประเภท ราคา หรือชนิดของสินค้าหรือบริการ ซึ่งจะได้กำหนดในพระราชกฤษฎีกาต่อไป
4.3 เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว กฎหมายกำหนดเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
    4.3.1 ส่งคืน สินค้าไปยังผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ในกรณีการขายตรง หรือส่งคืนสินค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ในกรณีตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี
4.3.2 เก็บรักษาสินค้าไว้ตามสมควรภายในระยะเวลา 21 วันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิก สัญญาเว้นแต่สินค้านั้นเป็นของเสียง่ายโดยสภาพไม่อาจเก็บรักษาได้ภายในระยะ เวลาดังกล่าว ให้เก็บรักษาตามเวลาและวิธีการอันควรแก่สภาพ เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ผู้บริโภคจะเก็บรักษาสินค้านั้นไว้หรือไม่ก็ได้ และต้องส่งคืนสินค้าให้ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี โดยอาจมารับคืน ณ ภูมิลำเนาของผู้บริโภค แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ขอให้ผู้บริโภคส่งคืนสินค้าทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินปลายทาง ภายในระยะเวลาข้างต้น ผู้บริโภคต้องส่งคืนสินค้านั้นตามคำขอของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว
    4.4 ถ้าเป็นความรับผิดของผู้บริโภคทำให้สินค้านั้นสูญหายหรือบุบสลาย หรือไม่สามารถคืนสินค้าแก่ผู้ประกอบธุรกิจได้ ผู้บริโภคต้องชดใช้ค่าเสียหาย เว้นแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติจากการเปิดประกอบหรือผสมเพื่อใช้สินค้านั้น
    4.5 เมื่อผู้บริโภคได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามกฎหมายแล้ว ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจแบบตลาดตรง ต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปภายในกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา แต่ถ้าไม่คืนเงินภายในกำหนดเวลาต้องเสียเบี้ยปรับตามที่คณะกรรมการกำหนด
    4.6 คำรับประกันสินค้าต้องทำเป็นภาษาไทบ และระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิตามคำรับประกันที่ชัดเจน ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับคำรับประกัน คณะกรรมการจะพิจารณาออกประกาศในเรื่องนี้ต่อไป
5.การใช้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
ได้มีการกล่าวถึงการดำเนินคดีเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ โดยเน้นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อผู้ประกอบธุรกิจเป็นฝ่ายผิดสัญญา หรือมีข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้สินค้าหรือการรับบริการ และเป็นข้อพิพาทที่ไม่สามารถตกลงกันโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยได้ จึงต้องมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลหรือยื่นห้องศาล เพื่อขอให้ศาลบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามกฎหมายตามสิทธิที่ผู้บริโภคมีอยู่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม และเป็นการเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคสามารถร้องขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการตามสัญญาหรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามสัญญา เรียกร้องเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระแล้วคืนพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย หรือเรียกร้องค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ดังนั้นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจในศาลได้ 3 ช่องทาง คือ
1.  ร้องขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินคดีแทน
2.  ผู้บริโภคมีสิทธิดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้วยตนเองในฐานะที่เป็นผู้บริโภค
3.  ร้องขอให้สมาคมหรือมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองดำเนินการแทนได้

--------------------------------------------------------------------------
ที่มา : จาก หนังสือ “ สคบ กับการคุ้มครองผู้บริโภค. “ เขียนโดย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค. และ เว็บไซค์ของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (http://www.ocpb.go.th/) และเอกสารประกอบการเข้าร่วมประชุมสัมมานาโครงการข้างต้น

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

239 ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 053-942909-10 ต่อ 0, 053-942927-29 โทรสาร : 053-942914
E-Mail :  lawcmu@cmu.ac.th

ระบบแจ้งข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะ